ดันลงทุนอีอีซีพุ่ง 3 แสน ล.
วันที่ : 22 มิถุนายน 2564
สกพอ.ระบุเศรษฐกิจโลกฟื้นจากโควิด
คณิศ เผยปีนี้เม็ดเงินลงทุนจริงในอีอีซีกลับมาแล้ว แตะ 3 แสนล้านบาท ชี้เป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นการฉีดวัคซีนในประเทศและอั้นมาจากปีก่อนที่ทรุดลงไปแตะ 1 แสนล้านบาท ชี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)เปิดเผยว่าในปี 2564 การลงทุนจริงในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)จะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีการลงทุนจริงในอีอีซี 100,000 ล้านบาท สาเหตุมาจากในปีก่อนนักลงทุนชะลอการลงทุน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงมาก แต่ในปีนี้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนต.ค.ปีนี้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้น ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งต่างประเทศและในประเทศจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่อีอีซีในไตรมาสที่ 1/2564 ถือว่าเพิ่มขึ้นมากสะท้อนผ่านคำขอส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปีก่อนกว่า 39% มูลค่าการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ของปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 47,600 ล้านบาท แต่ในไตรมาสที่ 1ของปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 63,000 ล้านบาท ขณะที่การขอส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2562ประมาณ 75,000 ล้านบาท ซึ่งการขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่ากับช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์อุตสาหกรรมดิจิทัลส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)เริ่มลงทุนชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่จะเกิดการลงทุนในอีอีซีเพิ่มมากขึ้นมาจากอีก 2 ส่วน ที่มีความสำคัญโดยในส่วนแรก คือการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐในส่วนของเทคโนโลยี 5G โดยหลังจากที่มีการนำร่องเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ระยอง และการเดินหน้าใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ตามโรดแม็ปของเทศบาลเมืองพัทยาที่ได้วางไว้ ว่าจะก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะสำหรับรองรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพภายใน 5 ปี เมื่อมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากฝ่ายรัฐแล้วผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต และการสื่อสารก็จะเข้ามาลงทุนในส่วนต่างๆเพิ่มเติม และอีอีซีได้มีการลงนามความร่วมมือกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)เพื่อยกระดับโรงงานในพื้นที่อีอีซีให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ตออฟธิงและออโตเมชันมีเป้าหมายที่จะยกระดับโรงงาน 100,000 แห่ง ในระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้เต็มที่
นายคณิศ กล่าวว่าประเด็นที่จะช่วยสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในปีนี้ได้เป็นอย่างดีคือการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ที่มีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้ จะมีการผลิตรถ EV ในประเทศได้กว่า 30% ภายในปี 2573 โดยในอีอีซีเริ่มมีการลงทุนในสาขานี้ เช่น การลงทุนของบริษัทเกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่เริ่มมีการเดินเครื่องผลิตรถ EV ในไทยเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนของ บริษัท EVLOMO ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะด้วยวงเงินลงทุนถึงประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งการร่วมลงทุนของบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ที่มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันถึง1,000-2,000 ล้านดอลลาร์ และจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมซึ่งทำให้เห็นทิศทางการลงทุนของ EV ในไทยมากขึ้น
การลงทุนเรื่อง EV ยังมีการเจรจากับบริษัทชั้นนำให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม ซึ่งการชักจูงการลงทุน EV จะต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี 3 ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตรถ EV ได้แก่ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเทคโนโลยีควิกชาร์จเจอร์ เทคโนโลยีมอเตอร์ และอุปกรณ์ที่เป็นซอฟต์แวร์สำคัญของรถ EV หากสามารถดึงการลงทุนของบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาได้ ก็จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นฮับของการผลิต EV ได้
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ