อนาคตอสังหาฯไทย เมื่อลูกค้าต่างชาติหายไป
Loading

อนาคตอสังหาฯไทย เมื่อลูกค้าต่างชาติหายไป

วันที่ : 24 สิงหาคม 2564
ผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ต้องเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ออกโปรโมชั่นมาช่วยลดภาระการผ่อนดาวน์ของผู้ซื้อ อาจชะลอเปิดโครงการใหม่ หรือเปลี่ยนเปิดโครงการขนาดเล็กลง
          บุษกร ภู่แส

          อสังหาริมทรัพย์ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มตัวขึ้นก่อนหน้านั้นชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง! ข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในปี 2561 พบว่าลูกค้าต่างชาตินำเม็ดเงินมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าการโอนรวม 59,000 ล้านบาท หรือ 15,000 ยูนิต โดยสัดส่วนมากกว่าครึ่งเป็นชาวจีนที่เข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัยและ เพื่อการลงทุนให้เช่าหรือขายต่อในอนาคต

          ต่อมาในปี 2562 ผลจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของผู้ซื้อชาวต่างชาติและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระยะก่อนหน้า ส่งผลให้ดีมานด์ต่างชาติ "ลดลง" จนกระทั่งเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ตลาดคอนโดมิเนียมถูกกระทบจากดีมานด์ต่างชาติที่ "หดหาย" ล่าสุดจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูล
อสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ตัวเลขการโอนของคนต่างชาติทั่วประเทศ ค่าเฉลี่ยปี 2561-2562 อยู่ที่ 1,100 ยูนิต ปี 2564 คาดว่าเหลือเพียงแค่ 600 ยูนิต เทียบปี 2563 ที่มีจำนวน 8,258 ยูนิต ลดลง 35.3% มูลค่าโอนปี 2563 มีมูลค่า 37,716 ล้านบาท ลดลง 25.5% สัดส่วนเหลือ 12% จากเดิม 16%

          โดยครึ่งแรกของปี 2564 พบว่าสัญชาติ ที่โอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นอันดับหนึ่ง คือ คนจีนโอนมากสุดจำนวน 2,748 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 12,609 ล้านบาท อันดับ 2 รัสเซีย 143 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 411 ล้านบาท อันดับ 3 สหราชอาณาจักร จำนวน 130 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 473 ล้านบาท อันดับ 4 ฝรั่งเศส จำนวน119 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท อันดับ 5 เยอรมนี จำนวน 115 ยูนิต คิดเป็น มูลค่า 444 ล้านบาท สะท้อนว่าจีนยังคงเป็นลูกค้าหลักซื้อคอนโดเมืองไทย ส่วนลูกค้าสัญชาติอื่น มีสัดส่วนเป็นหลักทศนิยมและจาก 78 สัญชาติ ที่โอนกรรมสิทธิ์ 6 เดือนแรก ปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,358 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 20,449 ล้านบาท

          ขณะที่ดีมานด์ความต้องการซื้อในประเทศก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงเช่นกัน ทั้งจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว บริการและภาคอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้รับกระทบรุนแรง ทำให้พนักงานบางส่วนถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน ส่งผลให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่ำสุดในรอบหลายปี

          ดังนั้น ผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ต้องเพิ่มช่องทางการขาย ออนไลน์ ออกโปรโมชั่นมาช่วยลดภาระการผ่อนดาวน์ของผู้ซื้อโดย ผู้ประกอบการอาจชะลอการเปิดโครงการคอนโดใหม่หรือเปลี่ยนเป็น การเปิดโครงการขนาดเล็กลง เน้นทำเลดี ในราคาเหมาะสมเพื่อให้ขายหมดเร็วขึ้น จากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบส่วนใหญ่หันไปเปิดโครงการแนวราบมากขึ้นเนื่องจากความยืดหยุ่นกว่า สามารถทยอยสร้างได้ และหากยอดขายไม่เป็น ไปตามที่กำหนดก็สามารถปรับรูปแบบบ้านหรือพักโครงการก่อสร้างไปก่อนได้ ซึ่งต่างจากโครงการอาคารชุดที่ต้องสร้างทีเดียวให้เสร็จ ทั้งโครงการ ทั้งหมดนี้คือความท้าทายและโอกาสที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

       
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ