สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ไตรมาส 1 ปี 2563 และแนวโน้มปี 2563
Loading

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ไตรมาส 1 ปี 2563 และแนวโน้มปี 2563

วันที่ : 4 มิถุนายน 2563
สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ไตรมาส 1 ปี 2563 และแนวโน้มปี 2563
               ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคด้านอุปสงค์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่ออกมาเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายการควบคุมสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทยอยออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 มาจนถึงปลายปี 2563 ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษีไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและการจำนอง เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่และมือสองราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มาตรการบ้านดีมีดาวน์ที่สนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาทต่อราย ให้กับประชาชนผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจำนอง เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ (ในโครงการจัดสรรและอาคารชุด) ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท 
               ส่วนด้านอุปทานการออกใบอนุญาตจัดสรรมีจำนวนโครงการและจำนวนหน่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยเฉพาะ 3 จังหวัดในกลุ่ม EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่มีจำนวนหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินสูงสุด 5 จังหวัดแรกในภูมิภาค อาจเป็นผลมาจากการปรับปรุงผังเมืองในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะผังเมือง EEC ที่มีการประกาศใช้แล้วในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการหันมามุ่งเน้นบ้านแนวราบที่เป็น Real Demand มากขึ้น แต่ในส่วนของการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยลดลงทั้งแนวราบและอาคารชุดซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานเหลือขายสะสมมีอยู่ค่อนข้างมาก ประกอบกับผู้ประกอบการปรับตัวชะลอการลงทุนตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควร  
                สำหรับแนวโน้มในปี 2563 มีปัจจัยบวกในด้านอัตราดอกเบี้ยขาลง มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล การผ่อนปรน LTV ของ ธปท. และมีปัจจัยลบในด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID -19 สภาวะภัยแล้งที่อาจจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง จะส่งผลให้มีการชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานของที่อยู่อาศัย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่าในด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ -14.0 และร้อยละ -9.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562  และอุปทานด้านที่อยู่อาศัยการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน และการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จะลดลงจากปี 2562 ร้อยละ -11.0 และ ร้อยละ -13.6 ตามลำดับ

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                          อ่านต่อฉบับเต็ม .... Download PDF
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่