สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ไตรมาส 4 ปี 2562 และแนวโน้มปี 2563
Loading

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ไตรมาส 4 ปี 2562 และแนวโน้มปี 2563

วันที่ : 2 มีนาคม 2563
          ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคด้านอุปสงค์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ทั้งนี้การโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวนสูงสุดในรอบ 4 ปี (16 ไตรมาส) นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2558 โดยเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่ออกมาเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายการควบคุมสินเชื่อ ซึ่งทยอยออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 มาจนถึงปลายปี อาทิเช่น มาตรการลดหย่อนภาษีไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท มาตรการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (การโอนและการจำนอง) เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่และมือสองราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มาตรการบ้านดีมีดาวน์ที่สนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาทต่อราย ให้กับประชาชนผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (การโอนและการจำนอง) เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ (ในโครงการจัดสรรและอาคารชุด) ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นต้น เมื่อพิจารณาด้านอุปทานที่อยู่อาศัย การออกใบอนุญาตจัดสรรมีจำนวนโครงการลดลงเล็กน้อยแต่มีจำนวนหน่วยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 และยังมีจำนวนสูงสุดในรอบ 6 ปี (24 ไตรมาส) นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2556 โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 54 ของจำนวนหน่วยทั้งหมดอยู่ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดในกลุ่ม EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่มีจำนวนหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินสูงสุด 5 จังหวัดแรกในภูมิภาค ในส่วนของการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 โดยลดลงทั้งแนวราบและอาคารชุดเป็นผลมาจากอุปทานที่อยู่อาศัยที่เหลืออยู่ค่อนข้างมากประกอบกับผู้ประกอบการบางส่วนยังคงชะลอการลงทุนเพิ่มตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควร  
          สำหรับภาพรวมในปี 2562 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 จนถึงปลายปี โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัด EEC ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐจึงทำให้มีการปรับตัวเพิ่มสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เมื่อพิจารณาในด้านอุปสงค์ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของประเภทแนวราบแต่อาคารชุดมีจำนวนลดลง ในด้านอุปทานการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินมีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 ส่วนภาพรวมการออกใบอนุญาตก่อสร้างมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของอาคารชุดแต่ประเภทแนวราบมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตามในปี 2562 การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินและการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารยังคงมีจำนวนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
          แนวโน้มในปี 2563 ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น ผลกระทบการส่งออกจากการแข็งตัวของค่าเงินบาท การกีดกันทางการค้า สภาวะภัยแล้งที่อาจจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีเท่าที่ควร เป็นต้น จึงคาดว่าภาพรวมอุปสงค์ (การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย) และอุปทานด้านที่อยู่อาศัย (การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน และการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร) จะลดลงจากปี 2562 ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า 
 
อ่านต่อฉบับเต็ม .... Download PDF
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่